วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553

การเลือกใช้คำให้ถูกต้องตามความหมาย

การเลือกใช้คำให้ถูกต้องตามความหมาย

ภาษาไทยมีคำที่ใช้สื่อความหมายได้มากมาย ถ้ารู้ความหมายของคำ จะสามารถอ่านเข้าใจข้อความต่าง ๆ ได้เข้าใจถูกต้อง ชัดเจน และสามารถเลือกใช้คำที่ตรงตามความหมายที่ต้องการได้
ตัวอย่างการใช้คำในความหมายต่าง ๆ
อื้ออึง - สนั่น ดังลั่น
พายุฝนพัดกระหน่ำ ทั้งเสียงลมเสียงฝนดังอื้ออึง
โหวกเหวก - เสียงเรียกกันเอะอะโวยวาย
ใครมาส่งเสียโหวกเหวกอยู่หน้าบ้าน
ฮือ - กรูกันเข้ามาหรือออกไป แตกตื่นชั่วระยะ
ผู้ฟังลุกฮือกันเข้าไปหน้าเวทีด้วยความไม่พอใจเมื่อผู้พูด พูดจบ
ฮือฮา - เสียงแสดงความตื่นเต้นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ผู้คนส่งเสียงฮือฮาเมื่อการแสดงความต่อสู้เป็นไปอย่าง ตื่นเต้น เร้าใจ
ฟูมฟาย - มีน้ำตาอาบหน้า มากมาย ล้นเหลือ
เหตุร้ายที่เกิดขึ้นกะทันหันทำให้เธอร้องไห้ฟูมฟายด้วย ความเสียใจ
ระงม - เสียงอื้ออึงจนฟังไม่ได้ศัพท์ หลังฝนตก กบ เขียด อึ่งอ่างส่งเสียงร้องระงมทั่วท้องทุ่ง
คร่ำครวญ - ร้องไห้รำพัน เด็กคนนั้นร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าสงสารเพราะถูกแม่ตี ที่ไม่ เชื่อฟัง

ตัวอย่างข้อความที่ใช้ในความหมายเชิงเปรียบเทียบ
ไม่ลืมหูลืมตา - มาก
ฝนตกอย่างไม่ลืมหูลืมตา
สุดลูกหูลูกตา - ไกลสุดสายตา
บึงกว้างใหญ่ราวกับทะเล แลดูสุดลูกหูลูกตา
ตายแล้วเกิดใหม่ - รอดตาย ปลอดภัย
ทุกคนมีความรู้สึกเหมือนตายแล้วเกิดใหม่

คำบางคำมีความหมายอย่างเดียวกัน บางคำมีความหมายใกล้เคียงกันจึงควรเลือกใช้คำให้ถูกต้องตามความหมาย

ฝึกอ่านและสังเกตคำที่มีความหมายเหมือนกัน
ชีวิต - ชีวี ชีวา ชีวัน ชีพ
ให้ - มอบ ถวาย พระราชทาน
พูด - กล่าว พูดจา เจรจา ทูล กราบทูล
กิน - รับประทาน ฉัน เสวย
ตาย - ถึงแก่กรรม มรณภาพ อาสัญ ถึงอายุขัย เสียชีวา บรรลัย
สวรรคต
โกรธ - ขัดเคือง โมโห ขึ้นโกรธ กริ้ว เคียดแค้น
แค้นเคือง ฉุนเฉียว
เลว - ชั่ว ชั่วช้า ต่ำช้า ไม่ดี อุบาทว์ ทราม จัญไร
ระยำ สามานย์

ฝึกอ่านและสังเกตคำที่มีความหมายคล้ายกัน
ทำที - แสดงกิริยาให้ผู้อื่นเข้าใจผิด
ทำท่า - แสดงกิริยาว่าจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ท่าที - กิริยาอาการที่มีต่อเหตุการณ์หรือบุคคล
เขาทำทีว่ามีธุระยุ่ง เมื่อดูท่าทีแล้วเขาคงจะไม่ไปร่วมงานเลี้ยงเย็นนี้ เพื่อนของเขาก็ทำท่าว่าจะไม่ไปบ้าง
การเลือกใช้คำให้ถูกต้องตามความหมาย ต้องรู้ความหมายของคำรู้หน้าที่ของคำในประโยค และใช้ให้เหมาะกับกาลเทศะและบุคคล จึงจะสามารถสื่อความหมายให้ผู้อื่นเข้าใจได้ถูกต้องตามที่ต้องการ ดังนี้
๑. คำที่มีความหมายเหมือนกัน บางคำใช้ในภาษาพูดและภาษาเขียนบางคำใช้เฉพาะในบทร้อยกรองหรือบทเพลง เช่น
ป่าไม้เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธาร
สายนทีรี่ไหลไม่ขาดสาย คนสัตว์ทั้งหลายได้อาศัย
ดื่มกินน้ำจากธาราชลาลัย นี่คือคุณยิ่งใหญ่แห่งสายธาร

๒. คำคำเดียวที่มีความหมายหลายอย่าง จะมีความหมายแตกต่างกันตามหน้าที่ของคำในประโยค เช่น
ฉันใช้ทัพพีตักข้าว
ลูก ๆ ชอบนอนหนุนตักแม่
๓. คำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน บางครั้งใช้แทนกันไม่ได้ เช่น
เขาใช้มีดปาดแตงโมส่วนที่เน่าทิ้ง
ป้าเฉือนเนื้อเป็นชิ้น ๆ เพื่อนำไปตากแห้ง
๔. คำบางคำแม้จะมีความหมายเหมือนกัน แต่ต้องใช้ให้เหมาะสมกับบุคคลและกาลเทศะ เช่น
เด็ก ๆ ไม่ควรนอนดึก
หลวงพ่อจำวัดอยู่ในกุฏิ
เจ้าหญิงบรรทมอยู่ในพระอู่ (เปล)
๕. คำบางคำแม้มีความหมายตรงอยู่แล้ว แต่บางครั้งอาจนำมาใช้ในความหมายใหม่ เรียกว่า ความหมายโดยนัย การที่จะรู้ว่าคำนั้นมีความหมายตรงหรือมีความหมายโดยนัย ต้องพิจารณาจากคำอื่น ๆ ในประโยค หรือข้อความที่อยู่ใกล้เคียง เช่น
ชายสองคนนี้ดูท่าทางไม่กินเส้นกันเลย
(กินเส้น มีความหมายโดยนัยว่า ไม่ชอบกัน)
“ข้อสอบปีนี้หินมาก ฉันคงสอบไม่ได้แน่ ๆ”
(หิน มีความหมายโดยนัยว่า ยากมาก)
“เจ้าหมอนั่นวางท่าเป็นนักเลงโต สักวันหนึ่งอาจจะโดนไข้โป้ง”
(ไข้โป้ง มีความหมายโดยนัยว่า ถูกยิง)

๖. คำบางคำมีรูปคำ และความหมายใกล้เคียงกัน เช่น
เข้มแข็ง ขยันขันแข็งทำการงาน ไม่ย่อท้อหวั่นไหว
เขาทำงานอย่างเข้มแข็งตลอดมา จึงได้เลื่อนตำแหน่ง
เป็นหัวหน้าฝ่าย
เข้มข้น จัด (ใช้กับรส) ดุเดือด
การอภิปรายครั้งนี้เข้มข้นมาก
เข้มงวด เอาจริงเอาจัง เคร่งครัด
ครูคนนี้เข้มงวดกวดขั้นให้นักเรียนอ่านหนังสือทุกวัน
ลักพา แอบพาหนีไป
ทศกัณฐ์ลักพานางสีดาไปไว้ที่กรุงลงกา
ลักลอบ แอบทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในทางที่ไม่ดี
ผู้ที่ลักบอบค้าสิ่งเสพย์ติดจะต้องได้รับโทษมหันต์
เร่งรัด เร่งอย่างกวดขัน
หัวหน้าเร่งรัดให้ฉันทำงานเรื่องนี้ให้เสร็จโดยเร็ว
เร่งรีบ รีบด่วน
การขับรถด้วยความเร่งรีบ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
เร่งเร้า วิงวอนอย่างเร่งร้อน
ลูก ๆ เร่งเร้าให้แม่พาไปเที่ยว
สำนวนเปรียบเทียบ หมายถึง ถ้อยคำที่คมคาย มีความหมายลึกซึ้ง
ในเชิงเปรียบเทียบ เช่น
ดำเหมือนถ่าน บริสุทธิ์ประดุจหยาดน้ำค้าง
ช้าเหมือนเต่า เบาเหมือนปุยนุ่น
ซนเหมือนลิง เร็วราวกับลมพัด
กลมเหมือนมะนาว ขาวเหมือนสำลี
ใจดำเหมือนอีกา รักดั่งแก้วตา
ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก ไว้เหมือนปรอท
เด็กคนนั้นวิ่งเร็วราวกับลมพัด
พ่อแม่รักลูกดั่งแก้วตา เขาหายไปไหนนะ ไวเหมือนปรอทจริง ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น