วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

ความหมายของเรื่องสั้น






เรื่องสั้นคือเรื่องที่เล่าอย่างสั้น ๆ มีขนาดความยาวของเรื่องไม่กำหนดแน่นอนตายตัวแต่ต้องใช้คำไม่มากนักโครงเรื่อง ไม่ซับซ้อนจนเกินไป สามารถอ่านจบได้ในเวลาสั้น ๆ ผลที่ปรากฏจากเรื่องหรือแนวคิดที่ได้จากเรื่องจะเป็นเพียงผลอย่างเดียวหรือแนวคิดอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว
ลักษณะของเรื่องสั้น
เรื่องสั้นของไทยตามแบบเก่า มีลักษณะพอสรุปได้ดังนี้
๑.มีโครงเรื่อง หมายถึง มีการเปิดเรื่อง โดยมีข้อขัดแย้งกันในระหว่างตัวละครเพื่อทำให้เรื่องสนุกสนานน่าติดตาม ต่อมาก็มีการคลี่คลายข้อขัดแย้ง จนบรรลุอย่างใดอย่างหนึ่งจึงปิดเรื่อง
๒. มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียว และมีผลอย่างเดียว หมายถึง ในโครงเรื่อง ต้องกำหนดจุดมุ่งหมายแล้วผลในตอนจบไว้อย่างเดียว
๓. ใช้เวลาน้อย หมายถึง เวลาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโครงเรื่องจะต้องใช้เวลาสั้น ๆ จบลงอย่างรวบรัด
๔. ใช้ตัวละครน้อย หมายถึง ตัวละครในเรื่อง ควรมีจำนวนน้อย เพื่อให้ดำเนินเรื่องไปอย่างรวดและรวบรัดไปสู่จุดหมายโดยเร็ว
๕.มีขนาดสั้น หมายถึง การใช้คำในการเขียนเรื่อง ซึ่งปรกตินิยมตามขนาดมาตรฐานของเรื่องสั้นรุ่นเก่า คือมีจำนวนคำประมาณ ๔,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ คำ แต่ถ้าเป็นเรื่องสั้นสมัยใหม่จัดเป็นเรื่องสั้นขนาดยาวอาจมีจำนวนคำได้ถึง ๑๐,๐๐๐ คำ
๖.ต้องมีความแน่น หมายถึง ต้องใช้สำนวนโวหารการสร้างฉาก ตัวละคร บทสนทา ฯ ล ฯให้กระชับรัดกุม และมีประโยชน์ต่อการดำเนินเรื่องมากที่สุด



วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553

ตัวสะกด

มาตราตัวสะกด คือ แม่บทการแจงลูก ที่ใช้ในการสะกดภาษาไทย แบ่งออกเป็น ๙ มาตราตัวสะกดในภาษาไทยมีทั้งหมด ๙ มาตรา คือ แม่ ก กา แม่ กก แม่ กง แม่ กด แม่ กน แม่ กบ แม่ กม แม่ เกย และแม่ เกอวใน ๙ มาตรา จะมีอยู่ ๔ มาตรา ที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรา ซึ่งได้แก่ แม่ กก แม่ กด แม่ กน และแม่ กบ

การอ่านคำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่กด
คำที่มี จ ช ต ติ ตร ท ศ ส เป็นตัวสะกด เป็นคำในมาตราแม่กด อ่านออกเสียงเหมือน ด สะกด เช่น เกียจคร้าน ดุจหนึ่ง ราชาธิราช พระราชทาน ราชวัง เมตตา บัณฑิต อุตสาหะ อุตส่าห์ สมบัติ พระเนตร บุตรชาย ปราสาท ทิศตะวันตก ตรัสสั่ง มหัสจรรย์

หลักการอ่านคำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่กน
คำที่มี ญ ณ ร ล เป็นตัวสะกด อ่านออกเสียงเหมือน น สะกด เป็นคำในมาตราแม่กน ได้แก่ ขอบคุณ ปริมาณ พระมหากรุณาธิคุณ กาญจนบุรี กล้าหาญ มอญ บังเอิญ เจริญ ทหาร อาหาร การงาน พสกนิกร หมั่นเพียร ธนาคาร สหกรณ์ กาลเวลา คนพาล น้ำตาล เกื้อกูล ทมิฬ

การเลือกใช้คำให้ถูกต้องตามความหมาย

การเลือกใช้คำให้ถูกต้องตามความหมาย

ภาษาไทยมีคำที่ใช้สื่อความหมายได้มากมาย ถ้ารู้ความหมายของคำ จะสามารถอ่านเข้าใจข้อความต่าง ๆ ได้เข้าใจถูกต้อง ชัดเจน และสามารถเลือกใช้คำที่ตรงตามความหมายที่ต้องการได้
ตัวอย่างการใช้คำในความหมายต่าง ๆ
อื้ออึง - สนั่น ดังลั่น
พายุฝนพัดกระหน่ำ ทั้งเสียงลมเสียงฝนดังอื้ออึง
โหวกเหวก - เสียงเรียกกันเอะอะโวยวาย
ใครมาส่งเสียโหวกเหวกอยู่หน้าบ้าน
ฮือ - กรูกันเข้ามาหรือออกไป แตกตื่นชั่วระยะ
ผู้ฟังลุกฮือกันเข้าไปหน้าเวทีด้วยความไม่พอใจเมื่อผู้พูด พูดจบ
ฮือฮา - เสียงแสดงความตื่นเต้นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ผู้คนส่งเสียงฮือฮาเมื่อการแสดงความต่อสู้เป็นไปอย่าง ตื่นเต้น เร้าใจ
ฟูมฟาย - มีน้ำตาอาบหน้า มากมาย ล้นเหลือ
เหตุร้ายที่เกิดขึ้นกะทันหันทำให้เธอร้องไห้ฟูมฟายด้วย ความเสียใจ
ระงม - เสียงอื้ออึงจนฟังไม่ได้ศัพท์ หลังฝนตก กบ เขียด อึ่งอ่างส่งเสียงร้องระงมทั่วท้องทุ่ง
คร่ำครวญ - ร้องไห้รำพัน เด็กคนนั้นร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าสงสารเพราะถูกแม่ตี ที่ไม่ เชื่อฟัง

ตัวอย่างข้อความที่ใช้ในความหมายเชิงเปรียบเทียบ
ไม่ลืมหูลืมตา - มาก
ฝนตกอย่างไม่ลืมหูลืมตา
สุดลูกหูลูกตา - ไกลสุดสายตา
บึงกว้างใหญ่ราวกับทะเล แลดูสุดลูกหูลูกตา
ตายแล้วเกิดใหม่ - รอดตาย ปลอดภัย
ทุกคนมีความรู้สึกเหมือนตายแล้วเกิดใหม่

คำบางคำมีความหมายอย่างเดียวกัน บางคำมีความหมายใกล้เคียงกันจึงควรเลือกใช้คำให้ถูกต้องตามความหมาย

ฝึกอ่านและสังเกตคำที่มีความหมายเหมือนกัน
ชีวิต - ชีวี ชีวา ชีวัน ชีพ
ให้ - มอบ ถวาย พระราชทาน
พูด - กล่าว พูดจา เจรจา ทูล กราบทูล
กิน - รับประทาน ฉัน เสวย
ตาย - ถึงแก่กรรม มรณภาพ อาสัญ ถึงอายุขัย เสียชีวา บรรลัย
สวรรคต
โกรธ - ขัดเคือง โมโห ขึ้นโกรธ กริ้ว เคียดแค้น
แค้นเคือง ฉุนเฉียว
เลว - ชั่ว ชั่วช้า ต่ำช้า ไม่ดี อุบาทว์ ทราม จัญไร
ระยำ สามานย์

ฝึกอ่านและสังเกตคำที่มีความหมายคล้ายกัน
ทำที - แสดงกิริยาให้ผู้อื่นเข้าใจผิด
ทำท่า - แสดงกิริยาว่าจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ท่าที - กิริยาอาการที่มีต่อเหตุการณ์หรือบุคคล
เขาทำทีว่ามีธุระยุ่ง เมื่อดูท่าทีแล้วเขาคงจะไม่ไปร่วมงานเลี้ยงเย็นนี้ เพื่อนของเขาก็ทำท่าว่าจะไม่ไปบ้าง
การเลือกใช้คำให้ถูกต้องตามความหมาย ต้องรู้ความหมายของคำรู้หน้าที่ของคำในประโยค และใช้ให้เหมาะกับกาลเทศะและบุคคล จึงจะสามารถสื่อความหมายให้ผู้อื่นเข้าใจได้ถูกต้องตามที่ต้องการ ดังนี้
๑. คำที่มีความหมายเหมือนกัน บางคำใช้ในภาษาพูดและภาษาเขียนบางคำใช้เฉพาะในบทร้อยกรองหรือบทเพลง เช่น
ป่าไม้เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธาร
สายนทีรี่ไหลไม่ขาดสาย คนสัตว์ทั้งหลายได้อาศัย
ดื่มกินน้ำจากธาราชลาลัย นี่คือคุณยิ่งใหญ่แห่งสายธาร

๒. คำคำเดียวที่มีความหมายหลายอย่าง จะมีความหมายแตกต่างกันตามหน้าที่ของคำในประโยค เช่น
ฉันใช้ทัพพีตักข้าว
ลูก ๆ ชอบนอนหนุนตักแม่
๓. คำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน บางครั้งใช้แทนกันไม่ได้ เช่น
เขาใช้มีดปาดแตงโมส่วนที่เน่าทิ้ง
ป้าเฉือนเนื้อเป็นชิ้น ๆ เพื่อนำไปตากแห้ง
๔. คำบางคำแม้จะมีความหมายเหมือนกัน แต่ต้องใช้ให้เหมาะสมกับบุคคลและกาลเทศะ เช่น
เด็ก ๆ ไม่ควรนอนดึก
หลวงพ่อจำวัดอยู่ในกุฏิ
เจ้าหญิงบรรทมอยู่ในพระอู่ (เปล)
๕. คำบางคำแม้มีความหมายตรงอยู่แล้ว แต่บางครั้งอาจนำมาใช้ในความหมายใหม่ เรียกว่า ความหมายโดยนัย การที่จะรู้ว่าคำนั้นมีความหมายตรงหรือมีความหมายโดยนัย ต้องพิจารณาจากคำอื่น ๆ ในประโยค หรือข้อความที่อยู่ใกล้เคียง เช่น
ชายสองคนนี้ดูท่าทางไม่กินเส้นกันเลย
(กินเส้น มีความหมายโดยนัยว่า ไม่ชอบกัน)
“ข้อสอบปีนี้หินมาก ฉันคงสอบไม่ได้แน่ ๆ”
(หิน มีความหมายโดยนัยว่า ยากมาก)
“เจ้าหมอนั่นวางท่าเป็นนักเลงโต สักวันหนึ่งอาจจะโดนไข้โป้ง”
(ไข้โป้ง มีความหมายโดยนัยว่า ถูกยิง)

๖. คำบางคำมีรูปคำ และความหมายใกล้เคียงกัน เช่น
เข้มแข็ง ขยันขันแข็งทำการงาน ไม่ย่อท้อหวั่นไหว
เขาทำงานอย่างเข้มแข็งตลอดมา จึงได้เลื่อนตำแหน่ง
เป็นหัวหน้าฝ่าย
เข้มข้น จัด (ใช้กับรส) ดุเดือด
การอภิปรายครั้งนี้เข้มข้นมาก
เข้มงวด เอาจริงเอาจัง เคร่งครัด
ครูคนนี้เข้มงวดกวดขั้นให้นักเรียนอ่านหนังสือทุกวัน
ลักพา แอบพาหนีไป
ทศกัณฐ์ลักพานางสีดาไปไว้ที่กรุงลงกา
ลักลอบ แอบทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในทางที่ไม่ดี
ผู้ที่ลักบอบค้าสิ่งเสพย์ติดจะต้องได้รับโทษมหันต์
เร่งรัด เร่งอย่างกวดขัน
หัวหน้าเร่งรัดให้ฉันทำงานเรื่องนี้ให้เสร็จโดยเร็ว
เร่งรีบ รีบด่วน
การขับรถด้วยความเร่งรีบ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
เร่งเร้า วิงวอนอย่างเร่งร้อน
ลูก ๆ เร่งเร้าให้แม่พาไปเที่ยว
สำนวนเปรียบเทียบ หมายถึง ถ้อยคำที่คมคาย มีความหมายลึกซึ้ง
ในเชิงเปรียบเทียบ เช่น
ดำเหมือนถ่าน บริสุทธิ์ประดุจหยาดน้ำค้าง
ช้าเหมือนเต่า เบาเหมือนปุยนุ่น
ซนเหมือนลิง เร็วราวกับลมพัด
กลมเหมือนมะนาว ขาวเหมือนสำลี
ใจดำเหมือนอีกา รักดั่งแก้วตา
ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก ไว้เหมือนปรอท
เด็กคนนั้นวิ่งเร็วราวกับลมพัด
พ่อแม่รักลูกดั่งแก้วตา เขาหายไปไหนนะ ไวเหมือนปรอทจริง ๆ

การเขียนรายงาน

การเขียนรายงานเป็นการบันทึกความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วรวบรวมความรู้ที่ได้นั้น มาเขียนเรียบเรียงใหม่อย่างมีระเบียบแบบแผน เพื่อเสนอเป็นส่วนประกอบของการศึกษาวิชาต่างๆ การทำรายงานจึงเป็นการศึกษาด้วยตนเองอันจะทำให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ศึกษาได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนประกอบของรายงาย
๑.ส่วนนำเรื่อง ประกอบด้วย
ปกนอกมีวิธีการเขียนดังนี้
-ส่วนบน เขียนชื่อรายงาน
-ส่วนกลาง เขียนชื่อ นามสุก ผู้ทำรายงาน โดยไม่ต้องเขียนคำนำหน้า
ชื่อนาย หรือนางสาวอาจเขียนชั้นที่ศึกษาและเลขที่ของผู้ทำรายงานไว้บรรทัดถัดไปด้วยก็ได้และถ้าเป็นรายงานกลุ่ม ให้เขียนชื่อเรียงไว้คลละบรรทัด
-ส่วนล่าง บางออกเป็น 3 บรรทัด บรรทัดแรกเขียนชื่อรหัสวิชา และ
รายวิชาที่เขียนรายงาน โดยใช้คำว่า “รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา...”บรรทัดที่ ๒ เขียนชื่อโรงเรียน บรรทัดที่ ๓ เขียนภาคเรียน และปีการศึกษา ที่เขียนรายงาน
การเขียนหน้าปก ควรกะระยะตัวอักษรที่จะเขียนให้อยู่กึ่งกลางหน้ากระดาษ
โดยเว้นที่ว่างทางด้านซ้ายและขวาไว้ให้เท่ากันและวันว่างส่วนบนกลางและล่างให้เท่าๆกันด้วย
- ใบรองปก เป็นกระดาษเปล่าหนึ่งแผ่น ต่อจากปกนอก
- ปกใน เขียนข้อความเช่นเดียวกับปกนอก
- คำนำ ควรแบ่งออกเป็น ๓ ย่อหน้า และควรกล่าวถึงรายละเอียดดังนี้
ย่อหน้าที่ ๑ กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการเขียนรายงาน เป็นการเกริ่นนำถึงสาเหตุ
หรือแรงบันดาลใจที่ศึกษาค้นคว้าในการทำรายงานเรื่องนี้

ย่อหน้าที่ ๒ กล่าวถึงขอบเขตของเนื้อหาในรายงานอย่างย่อๆ ว่ากล่าวถึงอะไรบ้าง
ย่อหน้าที่ ๓ กล่าวขอบคุณผู้ที่ให้ความร่วมมือ ให้ความช่วยเหลือ หรือให้ความ
สนับสนุนอันมีส่วนทำให้รายงานฉบับนี้สมบูรณ์
( คำว่า “คำนำ” ให้เขียนกลางหน้ากระดาษไม่ต้องขีดเส้นใต้ )
สารบัญ หมายถึง บัญชีหัวข้อสำคัญและหัวข้อย่อยในรายงานทั้งหมด โดยเขียนเรียงลำดับตามที่ปรากฏในรายงานตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายพร้อมทั้งบอกเลขหน้าด้วยว่า หัวข้อนั้นๆ อยู่หน้าใดเพื่อสะดวกในการค้นคว้า
( คำว่า “สารบัญ” ให้เขียนไว้กลางหน้ากระดาษไม่ต้องขีดสันใต้ ส่วนหัวข้อ
สำคัญและหัวข้อย่อยให้เขียนไว้ทางด้านซ้ายมือ ส่วนตัวเลขบอกหน้าให้เขียนไว้ทางขวามือ ) ถ้าเป็นรายงานสั้นๆ อาจจะไม่ต้องมีสารบัญก็ได้
๒ )ส่วนเนื้อเรื่อง ประกอบด้วย
๒.๑. บทนำ เป็นส่วนหนึ่งที่บอกเหตุผลและวัตถุประสงค์ในการทำรายงาน
เรื่องนั้น ชี้แจงขอบเขตของเรื่องบอกให้ทราบว่าการทำรายงานนั้นมีความมุ่งหมายอย่างไร งานค้นคว้ากว้างหรือแคบเพียงใด ใช้วิธีดำเนินการศึกษาค้นคว้าอย่างไร มีการจัดระเบียบข้อมูลอย่างไรสมมติฐานของการศึกษาค้นคว้าอย่างไร
๒.๒. เนื้อหา คือ ข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการเลือกสรรจากการศึกษาค้นคว้า
ทั้งหมดและได้จัดระเบียบข้อมูลนั้นอย่างดี ถ้ามีเนื้อเรื่องยาวมากควรแบ่งเป็นบท ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ ก็แบ่งเป็นหัวข้อเรื่อง ตัวเรื่องจะประกอบด้วยหัวข้อใหญ่ หัวข้อรอง หัวข้อย่อยแต่ละหัวข้อจะมีสารัตถะขยายความ ได้แก่ เรื่องราว ข้อเท็จจริง ข้อมูล ภาพ แผนภูมิ ฯลฯ ในการเขียนเรียบเรียงจากการค้นคว้าจากแหล่งอื่น เช่น หนังสือวารสารสัมภาษณ์ ฯลฯ ผู้เขียนควรระบุข้อความตอนใด อ้างมาจากแหล่งใด โดยให้รายละเอียดย่อๆ ของแหล่งที่ใช้แทรกไว้ในเนื้อความ ( การอ้างอิงที่นิยมใช้ระบบ นาม – ปี : คือ ใส่ชื่อผู้แต่ง – ปีที่พิมพ์ และหมายเลขหน้าที่อ้าง ) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่อ่านที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติมและเพื่อแสดงมารยาทในการเขียนรายงานวิชาการของผู้เขียน


ตัวอย่างการอ้างอิงระบบนาม- ปี
แบบที่ ๑ อ้างข้อความก่อนแล้วจึงอ้างที่มา มีวิธีการดังนี้
“ ..........มอร์ฟีนเป็นอนุพันธ์ของฝิ่น มีสารอัลคาลอยด์ ซึ่งมีความรุนแรงในการกด
ประสาท ๑๐ เท่าของฝิ่นแท้มอร์ฟีนสกัดได้จากฝิ่นในรูปของเกลือต่างๆ ....” ( วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม, ๒๕๒๕ : ๗ )
แบบที่ ๒ อ้างที่มาก่อนแล้วจึงอ้างข้อความ มีวิธีการดังนี้
วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ( ๒๕๒๕ : ๗ )ได้กล่าวถึงเรื่อง มอร์ฟีนไว้ว่า “ ..........
มอร์ฟีนเป็นอนุพันธ์ของฝิ่น มีสารอัลคาลอยด์ ซึ่งมีความรุนแรงในการกดประสาท 10 เท่าของฝิ่นแท้มอร์ฟีนสกัดได้จากฝิ่นในรูปของเกลือต่างๆ ....”
๒.๓. บทสรุป มิใช่การย่อความโดยนำเนื้อหาสาระมากล่าวซ้ำ แต่เป็นการ
วิเคราะห์ข้อมูลและสาระสำคัญเพื่อประมวลแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจ แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นบทสรุปภาษาที่ใช้ในการนำเสนอเรื่องมักเป็นภาษาทางการ ใช้วิธีเขียนด้วยการลำดับความ ใช้คำง่าย มีการใช้เหตุผลในการนำเสนอ นิยมใช้ถ้อยคำสำนวนของผู้เขียนเอง

๓. ส่วนท้าย ประกอบด้วยเรื่องต่างๆ ดังนี้
๓.๑. บรรณานุกรม เป็นบัญชีประมวลรายชื่อหนังสือ วารสาร และเอกสาร
ต่างๆ ที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า ถ้ามีเอกสารได้ถึง ๕ เล่ม ให้ใช้คำว่า “เอกสารอ้างอิง” การเขียนบรรณานุกรมต้องเขียนตามรูปแบบที่กำหนด
๓.๒. ภาคผนวก เป็นเรื่องที่นำมาเพิ่มเติมช่องว่างให้สมบูรณ์ แต่มิใช่เนื้อหา
โดยตรงของเรื่อง จัดแยกไว้ท้ายเล่ม ถ้ามีหลายเรื่องก็จัดเป็นภาคผนวก ก ภาคผนวก ข
ขั้นตอนการในการเขียนรายงาน
การเขียนรายงานนั้น นอกจากจะต้องวางรูปแบบให้ถูกต้องแล้ว ขั้นตอนการเขียนรายงานก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องปฎิบัติให้ถูกต้องและเป็นไปตามลำดับ
๑. การเลือกหัวข้อเรื่องที่จะเขียนรายงาน
ถ้าเป็นการเขียนรายงานโดยทั่วไป ผู้สอนมักจะเป็นผู้กำหนดหัวข้อเรื่องให้ แต้ถ้ามีโอกาสเลือกเรื่องที่จะทำรายงานเอง ควรยึดแนวทางการเลือกหัวข้อดังนี้
- เลือกหัวข้อเรื่องที่น่าสนใจ และให้ประโยชน์มากพอสมควร
- เลือกหัวข้อเรื่องที่สามารถหาหนังสือค้นคว้าอ้างอิงได้ง่ายและมีมากพอ
- เลือกหัวข้อที่ไม่กว้างหรือแคบจนเกินไป เพระถ้ากว้างเกินไปจะเขียนรายงานได้ไม่ครอบคลุมเนื้อเรื่องและถ้าแคบเกินไป จะไม่สามารถเขียนรายงานให้มีความยาวพอเหมาะได้
๒. การจัดเตรียมเอกสารอ้างอิง
เมื่อเลือกหัวข้อที่จะเขียนรายงานได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การค้นคว้าและ
รวบรวมเอกสารที่จะนำมาใช้เขียนรายงานไว้ให้มากที่สุด ซึ่งอาจจะได้แก่ หนังสือ วารสาร นิตยสาร หนังสือพิมพ์หรืออื่นๆ
๓. การเขียนโครงเรื่อง
การเขียนโครงเรื่องคือ คือ การวางแนวทางไว้อย่างย่อๆ ว่า จะเขียนรายงานเกี่ยวกับเรื่องที่เลือกไว้ในแนวทางใด และจะมีขอบเขตของเนื้อหากว้างหรือแคบเพียงใด การวางโครงเรื่องไว้ล่วงหน้าจะช่วยให้ไม่เขียนออกนอกเรื่อง ทั้งยังช่วยให้เนื้อหามีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปเป็นขั้นตอนโดยสมบูรณ์อีกด้วย โครงเรื่องที่ดีจะต้องประกอบด้วย หัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อย ให้ใช้แผนผังความคิด หรือผังมโนทัศน์มาช่วยในการวางโครงเรื่อง


๔ ) การบันทึกข้อมูลจากเอกสารอ้างอิง

โดยทั่วไปนิยมบันทึกข้อมูลลงใน “บัตรบันทึก” ขนาด ๓  ๕ ๔ ๖ 
หรือ ๕๗แต่ควรเป็นขนาดเดียวกันทั้งหมด มีความหนาพอให้ทรงตัวไดไม่หักงอเมื่อเรียงตั้งเพื่อสะดวกสำหรับการเก็ยรวบรวมและนำไปใช้ โดยซื้อได้จากร้านเครื่องเขียน หรือทำเอง โดยใช้กระดาษสมุดชนิดหนาก็ได้

รูปแบบของการบันทึก ประกอบด้วยรายการหลัก ๔ ประการ คือ
๑. หัวข้อเรื่อง
๒. รายการหนังสือหรือแหล่งข้อมูลที่ค้นคว้าโดยบันทึกตามแบบ
บรรณานุกรม
๓. เลขหน้า เฉพาะข้อความที่จดบันทึก
๔. เนื้อหาสาระของเรื่องที่ค้นคว้า
ลักษณะของการบันทึกในแต่ละแผ่น ใช้บันทึกเนื้อหาเพียงหัวข้อเดียว แม้
เป็นหัวข้อเดียว ถ้าบันทึกจากหนังสือต่างเล่มกัน ก็แยกบัตรบันทึกหัวข้อเรื่องที่ละแผ่น หรือเป็นหนังสือเล่มเดียวกัน แต่บันทึกต่างเล่มกันก็แยกบัตรบันทึกเช่นกัน กรณีที่บัตรบันทึกแผ่นเดียวกันเก็บเนื้อหาไม่หมดบันทึกต่อบัตรที่ ๒ หรือ ๓ ได้โดยเขียนให้ทราบว่ามีบัตรต่อ
วิธีบันทึกเนื้อหา สามารถทำได้หลายแบบแต่ที่นิยมใช้ทั่วไปมี ๒ แบบดังนี้
๔.๑. บันทึกแบบคัดลอกข้อความ วิธีนี้เลือกคัดลอกข้อความตอนที่ต้องการจาก
ต้นฉบับทุกประการเหมาะสำหรับคำจำกัดความ กฎระเบียบข้อบังคับ หลักฐานหรือเหตุผลสำคัญที่สามารถนำไปใช้อ้างอิงสนับสนุนการนำเสนอผลการค้นคว้าได้ ถ้าเป็นข้อความขนาดยาวแต่ไม่ต้องการบันทึกข้อมูลบางส่วนให้ใส่จุด ๓ จุดตรงส่วนที่คัดออกนั้นทั้งนี้ควรใส่เครื่องหมายอัญประกาศกำกับข้อความที่คัดลอกไว้ด้วย เพื่อให้ทราบชัดเจนว่าเป็นเป็นข้อความที่คัดลอกมาโดยตรง

ตัวอย่าง บัตรบันทึกข้อมูลแบบคัดลอกข้อความ
ฝิ่น : ลักษณะ
วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. จากฝิ่นสู่เฮโรอีน. กรุงเทพฯ : แพร่วิทยา , ๒๕๓๕ หน้า ๖ .
“ ...ฝิ่นเป็นพืชล้มลุก ชอบขึ้นในที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ ๓,๐๐๐ ฟุตขึ้นไป ชอบอากาศหนาว ปลูก ได้ปีละครั้ง ดอกฝิ่นมีสีเขียว แดง ม่วง ชมพู ฯลฯ ผลของฝิ่น เมื่อถูกกรีดเป็นยางเหนียวสีขาวไหลออกมา เมื่อแข็งตังจะเปลี่ยนสีน้ำตาลไหม้ และเมื่อนำไปเคี่ยวให้สุกจะมีสีดำ มีรสเข้มจัด มีกลิ่นอับๆ คล้ายแอมโมเนีย...”

๔.๒. บันทึกแบบสรุปความ โดยเก็บสาระสำคัญของเรื่องที่ต้องการให้ครบถ้วนด้วยภาษาของผู้บันทึกเองอย่างสั้นๆ

ตัวอย่าง บัตรบันทึกข้อมูลแบบสรุปความ

ฝิ่น : ลักษณะ
วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม . จากฝิ่นสู่เฮโรอีน. กรุงเทพฯ : แพร่วิทยา , ๒๕๓๕ หน้า ๖
“ ...ฝิ่นเป็นพืชล้มลุก ชอบขึ้นในที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลชอบอากาศหนาว ดอกฝิ่นมีหลายสี ผลของฝิ่นจะมียางเหนียวสีขาวเมื่อแข็งตังจะเปลี่ยนสีน้ำตาลไหม้ และเมื่อนำไปเคี่ยวให้สุกจะมีสีดำ กลิ่นอับๆ คล้ายแอมโมเนีย...”

๕. การเรียบเรียงเนื้อเรื่องรายงาน
การเรียบเรียงเนื้อเรื่องรายงานนี้จะต้องพยายามเรียบเรียงอย่างรอบคอบ อย่าให้เกิดความผิดพลาดอันทำให้เนื้อหาวิชาการผิดเพี้ยนไปได้การเรียบเรียงเนื้อเรื่องนี้มีขั้นตอนควรปฏิบัติคือ
๕.๑. รวบรวมบัตรบันทึกทั้งหมด แล้วจัดหมวดหมู่ของเนื้อหาตามหัวข้อ
ของบัตรบันทึกที่สอดคล้องกับโครงเรื่อง
๕.๒. อ่านบัตรบันทึกที่เขียนและรวบรวมเป็นหมวดหมู่นั้นอย่างละเอียด
ทีละหัวข้อ
๕.๓. เรียบเรียงเนื้อหาของแต่ละหัวข้อจากบัตรบันทึกที่ทันทึกไว้ โดย
อ้างถึงสิ่งที่เหมือนหรือแตกต่างกันเรียบเรียงให้เนื้อเรื่องเดียวกันอย่างสมบูรณ์ด้วยสำนวนภาษาของตนเอง
๕. ๔. การเรียบเรียงเนื้อหา ต้องแสดงความคิดเห็นของตนเองแทรกลงไป
ด้วย อย่าเพียงแต่รวบรวมจากข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียว แต่ความคิดเห็นนี้ต้องเป็นความคิดเห็นที่เป็นหลักการถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่เป็นไปได้


๕.๕. การเรียบเรียงเนื้อเรื่อง ถ้าตอนใดต้องการความชัดเจน น่าเชื่อถือ
ให้อ้างคำพูดหรือข้อเขียนของบุคคลผู้ทรงคุณวุฒินั้น โดยทำเป็นอัญประกาศ ( ข้อความที่คัดลอกมาจากหนังสืออ้างอิง ) แทรกไว้

๕.๖. การเรียบเรียงเนื้อหาในแต่ละหัวข้อ ต้องขยายที่เพิ่มเหล่านั้นให้มี
ใจความสำคัญที่แจ่มแจ้งชัดเจนโดยเพิ่มส่วนขยายลงในเนื้อความซึ่งต้องยึดหลักว่า ส่วนขยายที่เพิ่มนั้นต้องไม่มีใจความสำคัญมากเกินกว่าดีบันทึก
๕.๗. เมื่อเรียบเรียงเนื้อหาของแต่ละหัวข้อครบหมดทุกข้อตามโครงเรื่อง
แล้ว นำเนื้อหาที่เรียบเรียงนั้นมาเขียนต่อกันเป็นเรื่องยาวโดยเขียนข้อความที่จำเป็นเพิ่มเติมเพื่อแต่ละหัวข้อให้มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันโดยตลอด
อนึ่งในการเขียนรายงานนั้นจะต้องเขียนลงในกระดาษดังนี้

ตัวอย่าง : การเว้นขอบกระดาษในการเขียนรายงาน

๑ นิ้ว







๑.๕ นิ้ว ๑ นิ้ว



๑ นิ้ว

๖. การเขียนบรรณานุกรม
หลักเกณฑ์การเขียนบรรณานุกรม มีดังนี้
๖.๑. เขียนคำว่า บรรณานุกรม กลางหน้ากระดาษตอนบน โดยไม่ต้อง
ขีดเส้นใต้
๖.๒. ถ้ารายงานที่เขียนมีเอกสารที่ใช้อ้างอิงไม่ถึง ๕ เล่ม ให้ใช้คำว่า
“ หนังสืออุเทศ” หรือ “หนังสือ อ้างอิง”แต่ถ้ามีเอกสารอ้างอิงตั้งแต่ ๕ เล่มขึ้นไป จึงใช้คำว่า “บรรณานุกรม”
๖.๓. เอกสารอ้างอิงที่นำมาเขียนบรรณานุกรมให้เขียนเรียงลำดับตาม
พยัญชนะต้นตัวแรกของชื่อผู้แต่งโดยไม่ต้องมีเลขหน้าข้อเป็น ๑, ๒ และ ๓
๖.๔. การเขียนชื่อผู้แต่งของเอกสารอ้างอิงในบรรณานุกรมมีวิธีเขียนดังนี้
ถ้าผู้แต่ง ๒ คนให้ใช้คำว่า “และ” เชื่อมระหว่างชื่อ เช่น
บุญเลิศ เนียมเจริญ และวิวัฒน์ นาสา.
ถ้าผู้แต่ง ๓ คน ให้ใช้เครื่องหมายจุลภาค ( ,) คั่นระหว่างชื่อที่ ๑ และ ๒
ใช้ “ และ “ เชื่อชื่อที่ ๓ เช่น
ประกอบ ใช้ประการ , ประยุทธ สิทธินันธ์ และสมบูรณ์ คนฉลาด.
ถ้าผู้แต่งมากกว่า ๓ คน ให้ใช้คำว่า “และคนอื่น “ หรือ “และคณะ “
ต่อท้ายชื่อแรก เช่น ตามด้วยยศ หรือบรรดาศักดิ์ของผู้แต่ง เช่น
คึกฤทธิ์ ปราโมช , ม.ร.ว.
อุปกิตศิลปาสาร , พระยา
ถ้าผู้แต่งใช้ชื่อหน่วยงานเป็นผู้แต่ง ให้เขียนชื่อหน่วยงานก่อน และถ้ามีหน่วยงานย่อยด้วยให้อาหน่วยงานใหญ่ขึ้นก่อน เช่น
ศิลปากร , มหาวิทยาลัย .
ศึกษาธิการ , กระทรวง. กรมวิชาการ.
ยกเว้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ต้องใช้หลักการนี้
๖.๕. ถ้าเอกสารอ้างอิงมีผู้แต่งหลายคน ให้เรียงลำดับเอกสารโดยใช้
อักษรต้นชื่อของผู้แต่งคนแรกเป็นหลัก
๖.๖. ถ้าชื่อผู้แต่งซ้ำกัน ให้เรียงลำดับตามอักษรต้นนามสกุลของผู้แต่ง แต่ถ้าผู้แต่งเป็นคนเดียวกันทำให้เรียงลำดับตามชื่อเอกสาร
๖.๗. การเขียนบรรณานุกรม ให้เริ่มเขี่ยนรายการแรกชิดขอบกระดาษ
ด้านซ้ายและถ้าเขียนบรรทัดเดียวไม่จบ ให้ขึ้นบรรทัดที่ ๒ โดยย่อหน้าเข้าไปประมาณ ๗ – ๘ อักษร
การเขียนบรรณานุกรมจากเอกสารอ้างอิงประเภทต่างๆ
เอกสารอ้างอิงต่างชนิดกันจะมีวิธีเขียนบรรณานุกรมที่แตกต่างกัน ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะประเภทที่นักศึกษาระดับนี้ใช้กันมาก ดังนี้
๑ ) หนังสือ
ชื่อผู้แต่ง นามสกุล . ชื่อหนังสือ .ครั้งที่พิมพ์.สถานที่พิมพ์ : สำนักพิมพ์ , ปีที่พิมพ์ .
ประสิทธิ์ กาพย์กลอน .การเขียนภาคปฎิบัติ. กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิช , 2518.
๒ ) บทความจากหนังสือ
ชื่อผู้เขียนบทความ. “ ชื่อบทความ ,” ชื่อหนังสือ. สถานที่พิมพ์หรือโรงพิมพ์ , ปีที่พิมพ์. หน้าทั้งหมดของบทความ.
ดำรงราชานุภาพ , สมเด็จ ฯ กรมพระยา. “ เรื่องสร้างพระบรมรูปทรงม้า ,” ประชุมพระนิพนธ์เบ็ดเตล็ด. พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา , ๒๕๐๔. หน้า ๕๙ –๖๐.
๓ ) บทความในวารสารหรือนิตยาสาร
ชื่อผู้แต่ง นามสกุล . “ ชื่อบทความ,” ชื่อวารสารหรือนิตยาสาร, ปีที่ ( เดือน , ปี ) เลขหน้าทั้งหมด ของบทความ.
วาณิช จรุงกิจอนันต์. เมฆเมฆินทร์ , “ สตรีสาร, ๒๕ ( กรกฏาคม , ๒๕๔๒) ,หน้า ๖๙ -๗๒
บทความในหนังสือพิมพ์
ชื่อผู้แต่ง นามสกุล . “ ชื่อบทความ,” ชื่อหนังสือพิมพ์, วัน เดือน ปี , หน้า.
เสฐียรพงษ์ วรรณปก. “ ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้,” ไทยรัฐ, ๘ มิถุนายน ๒๕๔๒ ,หน้า ๖.

๗. การข้ารูปเล่ม
การเข้ารูปเล่มเป็นนั้นตอนสุดท้ายของการทำรายงาน จะต้องเรียงลำดับ
ส่วนประกอบต่างๆอย่างมีขั้นตอนโดยเริ่มจาก ปกหน้า – ใบรองปก – ปกใน –คำนำ – สารบัญ –เนื้อเรื่อง –บรรณานุกรม – ใบรองปก – ปกหลัง
เมื่อเรียงลำดับได้ตามขั้นตอนนี้แล้ว ให้เย็บเล่มโดยเย็บทางริมซ้ายของรายงาน ให้ถาวร หลังจากนั้นตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้งก่อนนำส่ง
การเขียนรายงานเชิงวิชากรด้วยตนเองตามวิธีการดังกล่าวแล้วนี้ จะช่วยให้ได้รับความรู้และสารประโยชน์อย่างมากมาย ทั้งยังเป็นการฝึกทักษะการเขียนให้เกิดความชำนาญอันจะนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการเขียนที่ดีต่อไป

หลักคำสอนในพุทธศาสนา



จุดมุ่งหมายสำคัญในการนับถือศาสนา คือ ให้ผู้ที่นับถืออยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะนับถือพระพุทธศาสนา แต่ก็มีคนไทยอีกส่วนหนึ่งที่นับถือศาสนาแตกต่างกันไป ซึ่งทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะทุกศาสนามีหลักคำสอนที่สอดคล้องกัน คือ สอนให้ทุกคนทำความดี ละเว้นคามชั่วมีความรักและความเมตตาต่อกัน – เป็นต้น

หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา
หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาที่ควรนำไปปฏิบัติ ได้แก่
๑. อิทธิบาท ๔
อิทธิบาท ๔ หมายถึง ข้อปฏิบัติให้ถึงความสำเร็จ มี ๔ ประการ คือ
๑. ฉันทะ ความพอใจในงานที่ทำหรือในสิ่งที่จะศึกษาเล่าเรียน
๒. วิริยะ ความเพียรพยายามทำงานให้สำเร็จ ไม่ย่อท่อต่อการทำงาน
๓. จิตตะ ความเอาใจใส่ในการทำงาน ตั้งใจทำงานอย่างสม่ำเสมอ
๔. วิมังสา ความคิดรอบคอบ ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองงานที่ทำว่ามีข้อ
บกพร่องอะไรที่ควรแก้ไขหรือควรเพิ่มเติมอะไรซึ่งจะทำให้งานนั้น
ดีขึ้น
หลักธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นเหตุเป็นผลกัน นั่นคือ ความพอใจทำให้เกิดความขยันหมั่นเพียร ซึ่งทำให้เกิดความเอาใจใส่ และมีจิตใจจดจ่อต่อการทำงานนั้นและความเอาใจใส่นี้เองจะทำให้เกิดการพิจารณาไตร่ตรองงานที่ทำไปแล้วว่าดีหรือยังมีข้อบกพร่องหรือไม่ ถ้ามีข้อบกพร่องก็สามารถแก้ไขได้ทัน

๒.ฆราวาสธรรม ๔
ฆราวาสธรรม หมายถึง หลักธรรมที่ผู้ครองเรือนควรปฏิบัติ มี ๔ ประการ คือ
๑. สัจจะ คือ ความซื่อสัตย์ ความจริงใจ ความซื่อตรงต่อกัน
คนที่อาศัยอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ควรมีความซื่อสัตย์ต่อกันทั้งทางกาย วาจา และใจ จะทำให้เกิดความไว้วางใจกัน ร่วมมือกันพัฒนาครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นในฐานะที่เราเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว เราจึงควรแสดงความซื่อสัตย์ต่อพ่อแม่พี่น้อง และสมาชิกทุกคนในบ้าน เช่น ไม่พูดปก มีความตั้งใจที่จะทำงานตามหน้าที่ด้วยความตั้งใจ เป็นต้น
๑.ทมะ คือ การข่มใจ การฝึกฝนตนเองไม่ให้ประพฤติชั่ว
คนเราเมื่ออยู่ด้วยกัน ย่อมจะมีความขัดแย้งกันบ้าง สิ่งใดที่ไม่ตรงกับความคิดของเรา เราควรพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ ไม่ควรแสดงกิริยาอาการโต้แย้งออกมาทันที ถ้าเราสามารถข่มใจและพิจารณาปัญหาให้เข้าใจแล้ว เราก็สามารถแก้ปัญหานั้นด้วยความสงบเรียบร้อย
๒.ขันติ คือ ความอดทน หมายถึง ความอดทนต่อสิ่งที่ไม่ดี อดทนต่อความยากลำบาก
การอดทนต่อความยากลำบากทางกาย อดทนต่อการพูดจาไม่สุภาพ และอดกลั้นจิตใจให้อยู่ในความสงบ ไม่โกรธ ไม่อิจฉาริษยาผู้อื่น ถ้าเรามีขันติในเรื่องต่าง ๆ แล้วจะทำให้เราอยู่ในครอบครัวได้อย่างมีความสุข
๓.จาคะ คือ การเสียสละ การแบ่งปันสิ่งของให้แก่ผู้อื่น
เราอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ควรสละสิ่งของ แบ่งปันของกินของใช้ให้กันและกันตามสมควรแก่ฐานะ การแบ่งปันกันจะทำให้เกิดความสุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับ

๓. พรหมวิหาร ๔
พรหมวิหาร หมายถึง หลักความประพฤติอันประเสริฐ มี ๔ ประการ คือ
๑. เมตตา คามรัก ความปรารถนาดีอยากให้ผู้อื่นมีความสุข
๒. กรุณา ความสงสาร คิดช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์
๓. มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีมีความสุข
๔. อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง ไม่ลำเอียง โดยพิจารณาว่า ใครทำดีย่อม
ได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว

สุภาษิตพระร่วง



สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวาสุกรี เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒๘ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจุ้ย ( ท้าวกังสดาล ) เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๓๓๓ พระองค์เจ้าวาสุกรีทรงผนวชเป็นสามเณรหางนาคของกรมพระราชวังหลังเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๕ ประทับ ณ วัดพระเชตุพน ฯ ทรงศึกษาในสำนักสมเด็จพระวันรัต อธิบดี
สงฆ์วัดพระเชตุพนฯ ในเวลานั้น ผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๓ ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นอธิบดีสงฆ์ มีพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นนุชิตนุชิตชิโนรสศรีสุคตขัตติยวงศ์และดำรงตำแหน่งพระราชาคณะ นับเป็นครั้งแรกที่พระบรมวงศานุวงศ์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ
ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าคณะกลางปกครองคณะสงฆ์ให้หัวเมืองชั้นใน ในรัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๙๔ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกอบพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาสังฆปริณายก ทรงพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศ์ บรมพงศาธิบดี จักรีบรมนาถ ปฐมพันธุมหาราชวรังกูร
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทรงเชี่ยวชาญพิเศษในเรื่องของ โคลง ร่าย ฉัทน์ และความเรียงร้อยแก้ว ผลงานที่สำคัญเช่น ลิลิตตะเลงพ่าย สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลาย พระปฐมสมโพธิกถา เป็นต้น ทรงเป็นกำลังสำคัญในการจารึกวรรณกรรมและสรรพวิชาการที่วัด
พระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระองค์ทรงรอบรู้ทางพุทธศาสน์ อักษรศาสตร์ ราชศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และโบราณราชประเพณี เป็นพระอาจารย์ของเจ้านายในราชวงศ์หลายพระองค์ รวมถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๙ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ รวมพระชนมายุ ๖๓ พรรษา วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๖๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนพระสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสฯ พระอัฐิและอัฐบริขารส่วนพระองค์ได้ถูกรวบรวมและประดิษฐานอยู่ ณ พระตำหนักวัดพระเชตุพนฯ และเป็นพระราชประเพณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ เสด็จไปถวายพุ่มบูชาพระอัฐิประจำทุกปี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( UNESCO ) เมื่อ พ.ศ๒๕๓๓ ว่าเป็นกวีสำคัญพระองค์หนึ่งของโลก

การเขียนเรื่องสั้น


การเขียนเรื่องสั้น


ความหมายของเรื่องสั้น
เรื่องสั้นคือเรื่องที่เล่าอย่างสั้น ๆ มีขนาดความยาวของเรื่องไม่กำหนดแน่นอนตายตัวแต่ต้องใช้คำไม่มากนักโครงเรื่อง ไม่ซับซ้อนจนเกินไป สามารถอ่านจบได้ในเวลาสั้น ๆ ผลที่ปรากฏจากเรื่องหรือแนวคิดที่ได้จากเรื่องจะเป็นเพียงผลอย่างเดียวหรือแนวคิดอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว

ลักษณะของเรื่องสั้น
เรื่องสั้นของไทยตามแบบเก่า มีลักษณะพอสรุปได้ดังนี้
๑.มีโครงเรื่อง หมายถึง มีการเปิดเรื่อง โดยมีข้อขัดแย้งกันในระหว่างตัวละครเพื่อทำให้เรื่องสนุกสนานน่าติดตาม ต่อมาก็มีการคลี่คลายข้อขัดแย้ง จนบรรลุอย่างใดอย่างหนึ่งจึงปิดเรื่อง
๒.มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียว และมีผลอย่างเดียว หมายถึง ในโครงเรื่อง ต้องกำหนดจุดมุ่งหมายแล้วผลในตอนจบไว้อย่างเดียว
๓.ใช้เวลาน้อย หมายถึง เวลาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโครงเรื่องจะต้องใช้เวลาสั้น ๆ จบลงอย่างรวบรัด
๔.ใช้ตัวละครน้อย หมายถึง ตัวละครในเรื่อง ควรมีจำนวนน้อย เพื่อให้ดำเนินเรื่องไปอย่างรวดและรวบรัดไปสู่จุดหมายโดยเร็ว
๕.มีขนาดสั้น หมายถึง การใช้คำในการเขียนเรื่อง ซึ่งปรกตินิยมตามขนาดมาตรฐานของเรื่องสั้นรุ่นเก่า คือมีจำนวนคำประมาณ ๔,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ คำ แต่ถ้าเป็นเรื่องสั้นสมัยใหม่จัดเป็นเรื่องสั้นขนาดยาวอาจมีจำนวนคำได้ถึง ๑๐,๐๐๐ คำ
๖.ต้องมีความแน่น หมายถึง ต้องใช้สำนวนโวหารการสร้างฉาก ตัวละคร บทสนทา ฯ ล ฯให้กระชับรัดกุม และมีประโยชน์ต่อการดำเนินเรื่องมากที่สุด