วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

นิราศภูเขาทอง

ประวัติผู้แต่งนิราศภูเขาทอง
สุนทรภู่

สุนทรภู่เป็นกวีเอกของไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีศิลปะการเรียบเรียงคำขึ้นเป็นบทร้อยกรองที่เปี่ยมล้นด้วยอรรถรสและคุณค่าแห่งวรรณศิลป์ประเภทกลอนสุภาพที่โดดเด่นที่สุดหาคนจับยาก สุนทรภู่มีชีวิตที่ไม่ค่อยราบรื่นนักทั้งด้านชีวิตครอบครัวและหน้าที่การงาน มีชีวิตเหมือนนิยายในยามรุ่งเรืองมีทั้งชื่อเสียงเกียรติยศแต่ในยามตกอับแสนลำบากยากแค้น แต่ไม่ว่าสุนทรภู่จะอยู่ในห้วงเวลาเช่นใดก็ตามแต่สุนทรภู่ก็สามารถสร้างสรรค์บทร้อยกรองที่ทรงคุณค่าเปี่ยมล้นด้วยคุณภาพตามรูปแบบฉันทลักษณ์และแทรกอุทาหรณ์สอนใจจนพูดกันติดปากในยุคทุกสมัย งานเขียนของสุนทรภู่จึงเป็นมรดกอันล้ำค่าของแผ่นดินควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบสานให้เป็นมรดกของชาติสืบต่อไป
สุนทรภู่ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๓๒๙ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บิดาเป็นคนบ้านกล่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มารดาเป็นคนเมืองใดไม่ปรากฏแต่เป็นนางนมของพระองค์เจ้าจงกล พระธิดาในกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่เรียนหนังสือครั้งแรกกับพระที่วัดชีปะขาวหรือวัดศรีสุดาราม ริมคลองบางกอกน้อย ต่อมามารดาพาเข้าไปถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง
เมื่อเป็นหนุ่ม สุนทรภู่ได้ชอบผู้หญิงคนหนึ่ง ชื่อนางจัน ความที่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนสุนทรภู่ได้แต่งเพลงยาวเกี้ยวพาราสีนางจัน ทำให้บิดาของนางไม่พอใจ ให้คนไปจับและนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระราชวังหลัง ทำให้สุนทรภู่ถูกจองจำคุก แต่สุนทรภู่ก็ถูกจองจำอยู่ไม่นานก็ได้รับการปล่อยตัวเพราะกรมพระราชวังหลังประชวรและทิวงคต สุนทรภู่ต้องการบวชเพื่อล้างอัปมงคลจึงไปหาบิดาที่เมืองแกลง สุนทรภู่เดินทางไปเมืองแกลงโดยทางเรือการเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก เมื่อไปถึงแล้วก็ไม่ได้บวชตามที่คิดเพราะสุนทรภู่ได้ล้มป่วยลงแทบเอาชีวิตไม่รอด ในคราวไปเมืองแกลงครั้งนั้นสุนทรภู่ได้แต่ง นิราศเมืองแกลง ซึ่งเป็นนิราศเรื่องแรกของสุนทรภู่
เมื่อกลับมาจากเมืองแกลง สุนทรภู่ได้รับพระเมตตาจากเจ้าครอกทองอยู่ พระอัครชายาของกรมพระราชวังหลัง ทรงช่วยให้สุนทรภู่ได้แต่งงานอยู่กินกับนางจันสมปรารถนา แต่สุนทรภู่ก็ไม่มีความสุขเพราะสุนทรภู่กินเหล้าและเจ้าชู้ทำให้นางจันโกรธมีเรื่องทะเลาะเบาะกัน ต่อมาสุนทรภู่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กของพระองค์เจ้าปฐมวงศ์และได้ตามเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทใน พ.ศ.๒๓๕๐ ทำให้ได้เขียนนิราศเรื่องที่ ๒ คือ นิราศพระบาท
เมื่อกลับมาจากพระพุทธบาทแล้ว นางจันก็ไม่ยอมคืนดีด้วย ทำให้สุนทรภู่กลุ้มใจเสียใจกินเหล้าหนักขึ้นกว่าเดิม จนพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ทรงเอือมระอา สุนทรภู่น้อยใจจึงเดินทางไปเมืองเพชรบุรี สุนทรภู่ได้ไปอาศัยอยู่กับหม่อมบุนนาค ในกรมพระราชวังหลัง และได้แต่งนิราศเมืองเพชร
เมื่อสุนทรภู่อายุได้ ๓๕ ปี ชีวิตของสุนทรภู่เริ่มดีขึ้น ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดการกวี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นกวีที่ปรึกษาและทรงตั้งให้เป็นขุนสุนทรโวหารในกรมพระอาลักษณ์ นอกจากนั้นยังพระราชทานเรือนหลวงซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของท่าช้างให้เป็นที่อยู่ ชีวิตสุนทรภู่มีความสุขมากในช่วงนี้เพราะได้อยู่กันพร้อมหน้าคือนางจันและหนูพัดบุตรชาย แต่สุนทรภู่ก็ยังคงกินเหล้าเจ้าชู้เหมือนเดิมจนได้ไปติดพันกับผู้หญิงอีกคนหนึ่งคือ นางนิ่ม และได้เสียเป็นสามีภรรยากันนางจันโกรธมากเกิดทะเลาะกันอย่างรุนแรง สุนทรภู่เมาสุราและได้ทำร้ายลุงซึ่งเป็นพี่ชายของนางจันซึ่งได้เข้ามาห้ามปราม ทำให้สุนทรภู่ถูกจองจำอีกครั้งหนึ่ง และในระหว่างถูกจองจำในคุกครั้งนี้สุนทรภู่ได้แต่งกลอนนิทายเรื่อง พระอภัยมณี เพื่อขายเลี้ยงตัวในยามตกทุกข์ได้ยาก
ภายหลังพ้นโทษสุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ แต่เมื่อถึงช่วงสมัยรัชกาลที่ ๓ สุนทรภู่ได้ถูกปลดออกราชการเพราะสุนทรภู่ได้มีพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่พึงพระราชประสงค์ของพระองค์อยู่เสมอๆตั้งแต่พระองค์ยังมิได้สถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ในช่วงนี้สุนทรภู่ออกบวช เมื่อลาสิกขาแล้วสุนทรภู่ได้เข้าถวายตัวอยู่กับพระองค์เจ้าลักขณานุคุณพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ได้ปีหนึ่ง ครั้นเจ้านายพระองค์นี้สิ้นพระชนม์สุนทรภู่ขาดที่พึ่งได้รับความลำบากมาก ต้องล่องเรือแต่งหนังสือขายเลี้ยงชีพ ในบั้นปลายชีวิตสุนทรภู่ได้รับการอุปถัมภ์จากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และได้รับตำแหน่งเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร มีบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหาร จนกระทั่งถึงแก่กรรมลงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากสุนทรภู่มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สุนทรภู่จึงได้รับสมญานามว่า “ กวีสี่แผ่นดิน”
สุนทรภู่ถือว่าเป็นกวีโดยแท้ ไม่ว่าทุกข์หรือสุขก็สามารถแต่งกลอนได้ ยามทุกข์สุนทรภู่แต่งขึ้นเพื่อระบายความทุกข์ ในยามสุข สุนทรภู่แต่งกลอนเพื่อยกย่องผู้มีพระคุณหรือเพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจแก่คนทั่วไป คำกลอนที่สุนทรภู่แต่งขึ้นนับว่าเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าและเป็นแบบอย่างที่ดีของบทร้อยกรองเพราะถูกต้องตามรูปแบบฉันทลักษณ์ ใช้คำเรียบเรียงขึ้นได้อย่างสละสลวยทำให้คนในรุ่นหลังได้นำมาพูดกันจนติดปากในทุกด้าน สุนทรภู่จึงเป็นบุคลกรที่สำคัญที่สร้างสรรค์งานเขียนไว้เป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติสืบต่อไป
สุนทรภู่ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ ในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีสิริอายุรวม ๖๙ ปี
องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( UNESCO)
ยกย่องสุนทรภู่ว่าเป็นกวีสำคัญคนหนึ่งของโลก ในปี ๒๕๒๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น